ความเป็นมา: การได้รับรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศรีษะและลำคอในแต่ละครั้งนั้น ส่งผลให้เซลล์เอพิธีเลียมชนิดที่สร้างสารคัดหลั่งของต่อมน้ำลายเกิดการบาดเจ็บชนิดที่ไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติมากกว่าร้อยละ 60 ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะปากแห้งหรือซีโรสโตเมีย ในการใช้รังสีรักษาเพื่อยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งบริเวณศรีษะและลำคอนั้นจะทำให้มีการเพิ่มขึ้นของอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บในหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ในก้อนเนื้องอกและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำลาย สารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลท เป็นสารสำคัญในกลุ่มโพลีฟีนอลที่พบได้ในใบชาเขียวและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทั้งนี้เคยมีการศึกษาภายในหลอดทดลองด้วยเซลล์ไลน์เพาะเลี้ยงจากต่อมน้ำลาย พบว่าสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทสามารถปกป้องเซลล์ต่อมน้ำลายจากรังสีแกมม่าได้ แต่อย่างไรก็ตามในการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทในการคงสมดุลภายในเซลล์เอพิธีเลียมของต่อมน้ำลายนั้นยังไม่มีความเข้าใจอย่างชัดเจนมากนัก จึงมีความจำเป็นในการศึกษาต่อยอดครั้งนี้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทต่อกระบวนการคงสภาวะสมดุลของเซลล์เอพิธีเลียมในต่อมน้ำลาย และทดสอบฤทธิ์ของสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทต่อการปกป้องต่อมน้ำลายจากการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยกระบวนการรังสีรักษา
วิธีการศึกษา: ในกลุ่มตัวอย่างของต่อมน้ำลายที่สภาวะสมดุลนั้น ได้ทำการเพาะเลี้ยงต่อมน้ำลายซับแมนดิบิวลาร์ที่แยกได้จากตัวอ่อนของหนูเมาส์ด้วยสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทที่ความเข้มข้น 7.5-30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร เป็นเวลา 72 ชั่วโมง จากนั้นตรวจวัดการแตกแขนงของเซลล์เอพิธีเลียมโดยการตรวจด้วยวิธีทางกล้องจุลทรรศน์ การย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี และการตรวจวัดการแสดงออกของยีนโดยเทคนิคอาร์เรย์ สำหรับกลุ่มตัวอย่างต่อมน้ำลายที่มีการบาดเจ็บนั้น ได้ทำการทดสอบด้วยรังสีจากเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นที่ช่วงปริมาณ 5-10 เกรย์ เพื่อหาปริมาณรังสีที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บจากการใช้รังสีรักษา ทั้งนี้ได้ทำการทดสอบต่อมน้ำลายด้วยสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทที่ความเข้มข้น 7.5-15 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปฉายรังสีที่ปริมาณ 7 เกรย์ เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้กับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉายรังสีและกลุ่มควบคุมผลบวกภายหลังการเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ด้วยการตรวจนับการเจริญของปุ่มเซลล์เอพิธีเลียมโดยวิธีทางกล้องจุลทรรศน์ในทุกๆ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังได้ทำการตรวจโดยวิธีทางกล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอล ชนิดที่ใช้เลเซอร์ในการสแกน การแสดงออกของยีนโดยเทคนิคอาร์เรย์ การตรวจหาภาวะเครียดออกซิเดชั่น และการย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมีแบบโฮลเมาต์
ผลการศึกษา: ในกลุ่มตัวอย่างต่อมน้ำลายเพาะเลี้ยง พบว่าสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทที่ความเข้มข้น 7.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรสามารถคงสภาวะสมดุลของเซลล์เอพิธีเลียมของต่อมน้ำลายได้ในระหว่างกระบวนการพัฒนา และเมื่อกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บด้วยการฉายรังสี พบว่ากลุ่มที่ผ่านทดสอบด้วยสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทที่ความเข้มข้น 7.5 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรมาก่อน สามารถป้องกันกระบวนการเติบโต การแบ่งตัวแบบไมโทซิส และการเจริญของเซลล์เอพิธีเลียม ทำให้มีการพัฒนาของเซลล์เอพิธีเลียมในส่วนของอะซินาและส่วนของท่อภายในต่อมน้ำลายได้อย่างสมบูรณ์ สามารถเพิ่มจำนวนของเซลล์ต้นกำเนิดชนิด SOX2+ ลดจำนวนเซลล์ที่ตายแบบอะพอพโทซิสจากการกระตุ้นด้วยรังสี และสามารถลดระดับของโปรตีนบ่งชี้สภาวะเครียดออกซิเดชั่นได้
ประโยชน์ที่ได้รับ: งานวิจัยนี้จะส่งผลให้เกิดความรู้และความเข้าใจในฤทธิ์ของสารอีพิแกลโลคาเทชินแกลเลทต่อการปกป้องต่อมน้ำลายจากการบาดเจ็บที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยการฉายรังสี